เทคนิคการเรียนแบบ Feynman

Skill ที่มีการพูดถึงกันมากในยุคนี้คือ Learning how to learn

Cal Newport ได้สรุปถึงวิธีการเรียนที่ถูกต้อง ถ้าจะรู้ได้ว่าเราเข้าใจสิ่งที่เราได้เรียนจริง เราต้องสอนคนอื่นให้เข้าใจได้

Richard Feynman เป็นนักฟิสิกส์ระดับรางวัลโนเบลคนนึง ซึ่งมีความสามารถระดับสูง ในการอธิบายสิ่งที่ยากๆให้เข้าใจง่าย

ซึ่งวิธีที่ใช้เรียนรู้ของ Richard ถูกนำมาขยายความในภายหลัง ซึ่งในตอนที่เค้าใช้หลักการนี้ มันยังไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็น How-to ด้วยซ้ำ

ซึ่งจะมี 4 ขั้นตอนด้วยกัน

1. เลือก topic ที่เราสนใจ อาจจะเป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้ว แต่อยากรู้มากขึ้น หรือเป็นเรื่องใหม่ๆที่เรามีความสงสัย จากนั้น ก็หยิบกระดาษเปล่าขึ้นมา แล้วก็เขียนสิ่งที่อยู่ในหัวของเราเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ว่าเรารู้อะไรบ้างออกมาให้หมด จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบว่า ความรู้ที่เพิ่มขึ้นมามีอะไรบ้าง หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่ๆ มันถูกต้องการความรู้เดิมที่เรามียังไง ในขณะที่เราเก็บข้อมูลไป คลังความรู้เราก็จะเริ่มใหญ่ขึ้นจาก topic ที่เราเริ่มจากกระดาษเปล่า

2. สอนให้เด็กเข้าใจ อาจจะเป็นลูกหรือหลาน ที่อายุซัก 10-12 ขวบ เหมือนกับ quote ที่ Albert Einstein พูดว่า “If you can’t explain it to a six-year-old, you don’t understand it yourself.” กำจัดพวกคำศัพท์แสง และใช้คำพูดง่ายๆอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ เพราะถ้าเราไม่สามารถเล่าออกมาให้เรียบง่ายได้ เราอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องที่เราได้เรียนรู้จริงๆ

3. รีวิวและปรับปรุง ให้เราเขียนเรื่องที่เราคิดว่าสามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายลงกระดาษ และลองพิจารณาว่าจุดไหนที่สำคัญ การเขียนจะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่คิดมากขึ้น ปรับปรุงจนกว่าเด็กจะเข้าใจในสิ่งที่เราสอน และกลับมาเรียนรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่เรายังอธิบายได้ไม่ดีพอ

4. จัดระเบียบความรู้ที่ได้เรียนมา จากนั้นก็ลองเปลี่ยนคนที่เราอยากจะเล่าให้ฟัง อาจจะเป็นคนทั่วไป ประเด็นของขั้นตอนนี้คือ คนมักจะมีข้อสงสัยในสิ่งที่เราสอน หากเราตอบไม่ได้ เราจะได้มีข้อมูลเพื่อกลับมาเรียนรู้เพิ่ม

สิ่งที่ Richard หรือ ผู้ที่เป็นกูรูในสาขาต่างๆ มักจะพูดเหมือนกันในการศึกษาคือ Make it simple เพราะบางทีการที่ผู้สอนพยายามใช้ศัพท์เฉพาะ คำที่ยากจะเข้าใจมากเกินไป ก็เพื่อปิดบังความไม่เข้าใจของตัวเอง และการไม่ยอมรับ “ความไม่รู้จริงของตัวเอง” ซึ่งนั้นก็คืออุปสรรคใหญ่ในการเรียนรู้

Everything comes at a cost

เมื่อเร็วๆนี้ ผมเพิ่งเห็นโพสเกี่ยวกับกระแส Anti คนที่คิดว่าจะมาเอาซีน “ขอแต่งงาน” ในงานคอนเสิร์ต

ก่อนหน้านี้หลายปีก่อน มันก็เคยมีเหตุการณ์ประมาณนี้อยู่หลายครั้ง ทั้งในงาน talk show, งานแข่งกีฬา

Feedback ที่เคยอ่านก็จะค่อนข้างไปทางบวก เช่น ผู้คนเข้ามาชมว่าน่ารัก หรือ เข้ามาแสดงความยินดี

แน่นอนว่านั่นเป็นช่วงก่อน boom ของ Social Media

จริงๆแล้ว การขอแต่งงานในที่สาธารณะ มันก็มี downside อยู่ เพราะมันหลีกเลี่ยงการถูกบันทึกภาพโดยคนอื่นยาก

Social media isn’t changing us, it’s exposing the truth of who we really are…

Social media ไม่ได้เปลี่ยนแปลงผู้คน แต่มันเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของคนต่างหาก

Gary Vee

โลกออนไลน์นั้นทำให้การหาแนวร่วมเป็นเรื่องง่ายโดยเฉพาะ twitter แค่ใส่ hashtag ก็กระโดดเข้าไปร่วมวงสนทนาได้แล้ว

ผมเชื่อว่าคนที่เห็นชอบ หรือว่ามองเป็นเรื่องดีงาม ไม่ได้มีอะไรเสียหายก็มีอยู่เยอะ ซึ่งคนที่ไม่ชอบก็คงมี แต่ก็อาจจะไม่กล้าพูด หรือไม่ได้มีเวทีสาธารณะให้แสดงความคิดเห็นอย่างโจ่งแจ้งอย่างทุกวันนี้

ธรรมชาติของคน พอมีพวกพ้องก็กล้าที่จะ amplify เสียงของตัวเองให้ดังขึ้น จนเป็นกระแสได้ไม่ยาก

นี่ยังไม่นับคนที่ขอแต่งงานแต่ถูกปฏิเสธ ซึ่งกลายเป็น joke เป็น meme ที่แชร์และถูกเห็นกันเป็นล้านครั้ง นับเป็นฝันร้ายของคนที่เป็นเจ้าของคลิป -_-“

เวลาที่คลิป vdo หรือ รูปภาพ มันถูกแชร์ซ้ำๆออกไป ความรู้สึกของคนที่ได้ดูบ่อยๆเข้า ก็เปลี่ยนไปด้วย บางทีจากเรื่องดีงาม โศกเศร้า กลายเป็นเรื่องตลก เมื่อบริบทเปลี่ยน

ทำให้คิดถึงอีกตัวอย่างนึง ซึ่งไม่ใช่คลิป แต่เป็นเรื่องของ Spencer Elden เด็กทารกที่ถูกถ่ายบนหน้าปกของ Nirvana ชุด Nevermind ซึ่งออกมาฟ้องร้องตอนอายุ 30 เพราะรู้สึกว่าชีวิตได้รับผลกระทบจากการรูปนั้น

ตอนที่เป็นนายแบบปก Album ตัว Spencer Elden ในอายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ ก็คงไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจเอง

ผมก็ยังสงสัยเวลาเห็นพ่อกับแม่ เอาลูกมาทำ content โดยอ้างว่า ถามความเห็นลูกแล้ว เพราะเด็กยังไงก็ต้อง เออ ออ ตามพ่อกับแม่อยู่แล้ว (แต่ถ้าจะรอให้บรรลุนิติภาวะค่อยถาม มันก็ไม่มี content เด็กแล้วสิเนอะ)

Everything comes at a cost. Just what are you willing to pay for it?

Serena Williams

เรื่องการโพสแบบสาธารณะโดยเจ้าของ Content เองนั้นไม่มีถูกหรือผิดอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้มีผลกระทบคนอื่น

ส่วนการขอแต่งงานกันแบบมีคนที่ไม่รู้จักนับพันเป็นสักขีพยาน อาจจะต้องคิดถึงราคาที่ต้องจ่าย หากมันไม่เป็นไปตามแผนด้วย

เรื่องที่อยู่เหนือการคำนวณ

อาร์ชิบัลด์ วิเวียน ฮิลล์ (Archibald Vivian Hill) หรือ เอ.วี. ฮิลล์ เป็นนักสรีรวิทยาและเป็นนักวิ่ง เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ประจำปี 1922 จากการไขปริศนาการผลิตความร้อนและการใช้แรงงานของกล้ามเนื้อ

ด้วยความที่ตัวเองเป็นนักวิ่งและสงสัยว่า มนุษย์สามารถวิ่งได้เร็วสุดขนาดไหน จึงเป็นที่มาของการทดลองเกี่ยวกับ Oxygen consumption และ Performance ของนักกีฬา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่อง Vo2Max ในเวลาถัดมา

ในห้องทดลองของ Hill นั้นสามารถคำนวณได้แม่นยำว่า นักวิ่งคนนี้จะวิ่งได้ความเร็วสูงสุดเท่าไหร่ ซึ่งผลการทดลองก็ออกมาตรงค่อนเป๊ะตามที่คำนวณ

แต่สิ่งนึงที่สร้างความสงสัยให้ Hill คือ เค้าไม่สามารถจะทายผลลัพธ์ว่าใครจะได้เหรียญทองการแข่งโอลิมปิคในกีฬาวิ่งได้ ผ่านการคิดคำนวณจากสูตรแบบในห้อง lab

แน่นอนว่า ในการแข่งโอลิมปิกมันมีการเดิมพันที่สูงมาก รวมไปถึงความกดดัน และสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการนำมาวิเคราะห์

Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ Same as Ever ได้ยกตัวอย่างนี้ในบทนึงของหนังสือ โดยให้ข้อคิดว่า เรามักจะเข้าใจว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้เหตุผล และสามารถคาดเดาพฤติกรรมได้ด้วยการใช้ตรรกะ คิด คำนวณ

เช่นเดียวกับเรื่องการเงิน การลงทุน เรามักจะคิดว่า ผู้คนตัดสินใจเรื่องเงินแบบเป็นเหตุเป็นผล และสามารถคาดการณ์ตลาดได้หากมีข้อมูล ซึ่งบ่อยครั้งผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้ามกับที่เราคิด เพราะมันมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แถมเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเหตุการณ์นั้นๆ

ในความเป็นจริง ถึงแม้จะเป็นคนๆเดียวกัน หากมีเรื่องของอารมณ์และบริบทอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยว ก็อาจจะทำให้กลายเป็นอีกคนนึงได้โดยสิ้นเชิง

ถ้าจะให้เห็นภาพชัดๆ

สมมติว่าวันนี้เราสามารถวิ่งความเร็วสูงสุดได้ 1 กิโลเมตรโดยใช้เวลา 5 นาที และไม่เคยได้เร็วกว่านี้ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนมาตั้งเดิมพันกับเราโดยจะให้เงิน 10 ล้านบาทถ้าเราวิ่งได้ 4:59 นาที

เชื่อว่าผลลัพธ์คงไม่ใช่ 5 นาทีแน่นอน 🙂

ปารีส/พำนัก/คน/รัก/หนังสือ

เป็นหนังสือเล่มหนึ่งจาก ชุดคนรักหนังสือ และค่อนข้างหายาก

ผมได้ลองค้นหาตามร้านหนังสือก็พบว่า ปารีส/พำนัก/คน/รัก/หนังสือ (Time Was Soft There: A Paris Sojourn at Shakespeare & Co.) เป็นหนังสือเก่าที่พิมพ์ครั้งแรกช่วงปี 2005

ราคาของหนังสือเรื่องนี้มือสองก็อยู่ที่ 700 บาท ที่ผมค้นเจอ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ซื้อเพราะมีเรื่อง The Readers of Broken Wheel Recommend ที่ต้องอ่านให้จบก่อน

ผมคิดเหมือนกันว่า ถ้าหาไม่ได้จริงๆ โดนบวกมาก็คงต้องยอม ในวันที่กลับไปซื้อพบว่ามีคนตัดหน้าไปแล้ว จริงๆก็แอบดีใจว่ามีคนสนใจหนังสือหายากเล่มนี้เหมือนกับเรา

โชคดีที่สุดท้ายผมได้เล่มนี้มาจากร้านอื่นในราคาถูกลงมาพอสมควร

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย เจเรมี เมอร์เซอร์ (Jeremy Mercer) เป็นการเล่าเรื่องราวอัตชีวประวัติของเขาในช่วงที่อาศัยอยู่และช่วยงานที่ Shakespeare & Co. ร้านหนังสือชื่อดังในปารีส และเริ่มเปิดทำการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951

จุดเริ่มต้น Jeremy อดีตเคยเป็นนักข่าวสายอาชญากรรมที่หนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งในแคนนาดา แต่มีเหตุไม่คาดฝันทำให้เขาต้องออกจากงาน และเดินทางหนีมาที่ปารีส ซึ่งในช่วงที่ไม่มีทั้งงาน เงินก็ใกล้จะหมด เขาเดินเข้าไปใน Shakespeare & Co. ด้วยความสิ้นหวังและซื้อหนังสือเล่มหนึ่ง

พนักงานในร้านเชิญเขาขึ้นไปดื่มชา และเล่าให้เค้าฟังว่าสถานที่แห่งนี้ เปิดต้อนรับนักเขียน นักประพันธ์ นักสร้างสรรค์ให้เข้ามาพักได้ฟรีด้วย ในวันถัดมาเขาก็ย้ายมาพักที่ร้าน ช่วยงานให้กับ จอร์จ วิตแมน (George Whitman) เจ้าของร้านผู้ใจดี ซึ่งเรื่องที่เขียนในหนังสือเป็นช่วงที่ George มีอายุ 86 ปีแล้ว

George ในวัย 86 ปี กับ Jeremy
หน้าร้าน Shakespeare & Co. ในปารีส

George Whitman เป็นบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับร้านหนังสือ Shakespeare & Co. นอกจากการเป็นเจ้าของร้านหนังสือ เขายังเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในวงการวรรณกรรม และวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลมากในชุมชนของนักเขียนและอ่านหนังสือที่อยู่ในปารีส

George ในความรู้สึกของคนทั่วไปอาจจะเป็นคนพิลึก แต่ก็เป็นที่เคารพนับถือของคนที่ได้มาสัมผัส เพราะเป็นคนมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคนที่ตกยาก เค้ามีคติประจำใจคือ “ให้เท่าที่ให้ได้ รับเท่าที่จำเป็น

ร้านหนังสือของเขาเปิดให้นักเขียนและนักอ่านมาท่องเที่ยวและพักผ่อน แม้ว่าจะไม่มีการจ่ายค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่เขาต้องการให้ผู้ที่พักอยู่ช่วยเรื่องเล็กๆ ที่ร้าน โดยเช่นยกของ ทำความสะอาด

Jeremy ได้สัมผัสกับชีวิตแปลกใหม่ ซึ่งไม่สะดวกสบาย แต่ก็มีความสุขในท่ามกลางบรรยากาศของร้านหนังสือที่เต็มไปด้วยคนบุคคลิกแปลกๆ ทั้งนักเขียน ศิลปิน และนักกวี เขาได้พบปะผู้คนมากมาย มีทั้งคนดังในวงการวรรณกรรม และคนไร้บ้านที่อาศัยหลับนอนในร้าน

เสน่ห์ของหนังสือคือ การเล่าถ่ายทอดบรรยากาศในปารีส สภาพความเป็นอยู่ ประวัติ ประสบการณ์ชีวิต บุคคลิกของแต่ละตัวบุคคลได้สนุกและเห็นภาพ เรื่องราวที่เกิดขึ้นของ Jeremy เป็นช่วงปี 1999-2000 ถ้าใครทันช่วงนั้นก็จะพอรู้ว่าเทคโนโลยีต่างๆยังไม่ล้ำเหมือนในปัจจุบัน ยังมีการส่ง Postcard และใช้ตู้โทรศัพท์ อ่านไปก็ได้รำลึกความหลังดี 🙂

ผมใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ 8 ชั่วโมง (วันละ 4 ชั่วโมง) จริงๆจะรวดเดียวจบก็ได้ถ้าไม่ติดว่าต้องตื่นไปทำงาน 😛

หนังสือเล่มนี้แน่นอนว่าอยู่ในหมวด non-fiction เพราะเป็นการเล่าเรื่องชีวิตจริงของ Jeremy และบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง แต่ลักษณะการเล่าเรื่องไม่น่าเบื่อ มีจุดให้ชวนติดตามอยู่ตลอด

Shakespeare & Co. ยังคงเปิดให้บริการอยู่จนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในปารีส และเป็นหมุดหมายที่สำคัญโดยเฉพาะนักอ่าน

Service charge

เมื่อประมาณเดือนธันวาคมปีที่แล้วผมมีโอกาสได้พาครอบครัวคุณภรรยาไปทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารแห่งนึง

ช่วงเวลากลางวันของวันธรรมดา คนในร้านบางตา จึงมีพนักงานหลายคนได้คอยมาดูที่โต๊ะอาหารของครอบครัวผมว่า ต้องการความช่วยหรือบริการอะไรเป็นพิเศษมั้ย

ด้วยความที่คุณพ่อและคุณแม่ของคุณภรรยาเป็นผู้สูงอายุ จึงได้ขอความช่วยเหลืออยู่ 2-3 ครั้ง และก็ได้การบริการที่เอาใจใส่ และประทับใจ

ตอนเช็คบิลผมตรวจสอบรายการอาหารครบถ้วน และเห็นว่าทางร้านไม่ได้มี service charge ก็เลยทิป พนักงานคนที่เข้ามาให้บริการไป 100 บาท ซึ่งพนักงานก็ดูดีใจ และผมคิดว่าเค้าก็น่าจะมีกำลังใจในการให้บริการอย่างเต็มที่สำหรับโต๊ะถัดไป

วันนี้ที่ร้านเดิม ในช่วงเวลากลางวันของวันธรรมดา คนบางตาเป็นปกติ แต่ผมสังเกตว่าการให้บริการดูเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ใช่ไม่ดี แต่ก็ไม่ประทับใจ (ส่วนตัวผมคิดว่ายังไงเดี๋ยวคงให้ทิปไปเท่าเดิมแหล่ะ)

แต่ตอนเช็คบิลคราวนี้ ทางร้านมีการบวกเพิ่ม 10% เป็น Service charge มาแล้ว ผมเลยคิดว่าถ้างั้นไม่ให้ทิปก็คงไม่เป็นไรเพราะ 10% ของราคาอาหารก็ปาไป 300 กว่าบาทแล้ว

จริงๆ การที่ร้านคิด Service charge ผมว่าก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่มันก็เคยมีประเด็นในโลกออนไลน์เหมือนกันว่าบางร้านไม่ได้แจ้งก่อน ทำให้มีปัญหาภายหลัง

ในกรณีผม ถึงเค้าแจ้ง ผมก็คงทานที่ร้านนี้อยู่ดี เพราะอาหารใช้ได้ และจอดรถสะดวกสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การมี Service Charge ทำให้คุณภาพของการบริการลดลงรึเปล่า? เพราะเท่าที่ผมถามหลายๆคนที่รู้จัก ก็ไม่ได้ทิปพนักงานเพิ่ม หากรู้ว่ามีการเก็บ Service Charge แล้ว

และจะว่าไปในแง่ของพนักงาน ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องให้บริการแบบ extra เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะไม่ได้ทิปเพิ่ม

ด้วยความที่ผมยังไม่เคยเจอร้านไหนแจ้งว่า Service Charge นี้เอาทำอะไรบ้าง อย่างในแอปสั่งอาหารเค้าก็จะมีบอกว่า “ทิปทั้งหมดจะส่งตรงให้กับพนักงาน”

แต่ตามร้านอาหารที่ส่วนใหญ่ที่บวกเพิ่ม 10% ถ้าจะบอกว่าเป็นทิปเข้าพนักงานทั้งหมด ผมว่าก็อาจจะเยอะไปเมื่อเทียบกับการบริการที่ได้รับ แต่ถ้าเป็นวิธีการขึ้นราคาอาหารแบบนึง การปรับที่ราคาอาหารเลยอาจจะดูโปร่งใส และเสียความรู้สึกน้อยกว่าสำหรับลูกค้า