The drops of oil and the spoon

เรื่องเล่านึงที่อยู่ในหนังสือ The Alchemist ที่ผมชอบมากคือ เรื่อง The two drops of oil ที่ถูกเล่าโดยตัวละครในหนังสือ

หนุ่มน้อยออกเดินทางตามหา “ชายผู้รอบรู้ที่สุดในแผ่นดิน” ตามคำที่พ่อของเค้าแนะนำ เมื่อเดินทางมาถึง เขาพบกับความวุ่นวายที่บ้านของชายผู้รอบรู้นั้น ผู้คนเข้าออก เดินมาเดินไปไม่ขาดสาย มีเสียงบทสนทนา ผสมกับเสียงดนตรีขับกล่อม

ชายหนุ่มเล่าที่มาที่ไปของการเดินทาง และขอคำแนะนำเรื่องความสุข ชายผู้รอบรู้ฟังจบ กล่าวว่ายังไม่มีเวลาอธิบาย แต่แนะนำให้หนุ่มน้อยสำรวจวัง และกลับมาอีกสองชั่วโมง

ก่อนจากไป ชายผู้วิเศษมอบช้อนให้หนึ่งคัน บนช้อนนั้น มีน้ำมันอยู่สองหยด พร้อมกำชับว่า “เดินสำรวจวังโดยไม่ให้น้ำมันหก”

หนุ่มน้อยเริ่มเดินสำรวจวัง แต่ละห้อง เขาเพ่งพินไปที่ช้อนเท่านั้น เวลาผ่านไปสองชั่วโมง เขาจึงกลับไปพบชายผู้รอบรู้

“เจ้าได้เห็นพรมทอเปอร์เซียในห้องอาหาร และสวนที่ใช้เวลานานถึง 10 ปีในการสร้าง หรือคัมภีร์สวยงามในห้องสมุดหรือไม่?” ชายผู้รอบรู้ถาม

หนุ่มน้อยอับอาย เพราะเขาไม่เห็นอะไรเลย มัวแต่กังวลไม่ให้น้ำมันหก

“กลับไปเถอะ แล้วชื่นชมความมหัศจรรย์ในปราสาทของข้า” ชายผู้รอบรู้กล่าว “เจ้าไม่สามารถไว้ใจใครถ้าไม่รู้จักบ้านของเขา”

หนุ่มน้อยโล่งใจ หยิบช้อน เดินสำรวจวังอีกครั้ง ครั้งนี้เขาสังเกตเห็นความมหัศจรรย์ที่ชายผู้วิเศษกล่าวถึง

เมื่อกลับมา เขารายงานทุกสิ่งที่เห็น

“แล้วน้ำมันสองหยดที่ข้าให้ไปล่ะ?” ชายผู้วิเศษถาม

หนุ่มน้อยมองลง เห็นน้ำมันหายไป

“นี่คือคำแนะนำเดียวที่ข้าจะให้” ชายผู้วิเศษกล่าว “ความสุขคือการเห็นความมหัศจรรย์ของโลก โดยไม่ลืมน้ำมันสองหยดบนช้อน

ซึ่งบทสรุปของเรื่องนี้อาจจะตีความถึง การหาสมดุลในชีวิต อย่ามัวแต่กังวลกับเป้าหมาย (น้ำมัน) จนลืมความสวยงามรอบตัว (ความมหัศจรรย์)

เราเกิดมาทำไม

ตอนเด็กๆ เราคงเคยมีความรู้สึกกลัวความตาย กับกลัวคนที่เรารักตาย

และบางครั้งก็เคยมีความคิดเหมือนกันว่า เราอาจจะไม่ตายก็ได้ เพราะเจอวิธีอยู่เป็นอมตะ

พออายุเพิ่มมากขึ้น ได้ผ่านขบวนการเรียนรู้ และเติบโต

เราเริ่มตระหนักได้ว่า ความตายเป็นของแน่นอน

ไม่ว่าคนๆนึงจะเกิดมาใน ฐานะ วรรณะ ชาติ ศาสนาอะไร ทุกคนต้องตาย

Death is not the opposite of life, but a part of it.

Haruki Murakami

ทัศนคติเกี่ยวกับความตายของผมก็เริ่มเปลี่ยนไปเหมือนกัน ส่วนนึงอาจจะเพราะได้มีโอกาสฟังเทศน์ และไปปฏิบัติธรรม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนที่รู้จัก และญาติสนิทที่ตายไป บางคนก็มีโอกาสได้เตรียมใจ บางคนก็จากไปกระทันหัน

แต่ความรู้สึกมันไม่ใช่ความเศร้าโศกซะทีเดียว การตายของคนทั้งที่รู้จักและไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว มันเหมือนกับเป็น ข้อความเตือน ว่าเวลาของเราก็ใกล้เข้าเหมือนกัน

คนส่วนใหญ่จะตีความว่า ความตาย = ความโชคร้าย

ถ้าเป็นเช่นนั้น

ชีวิตทุกคนต้องจบด้วยความโชคร้ายอย่างนั้นหรือ?

เราเกิดมาทำไม? เราอยู่ไปเพื่ออะไร?

เป็นคำถามที่เริ่มผุดขึ้นมาในหัว หลังจากที่ได้เห็นความตายเพิ่มมากขึ้น

ถ้าตอบคำถามนี้แบบไม่คิดอะไรมากก็คงประมาณว่า “เกิดมาเพื่อตายละมั้ง”

Birth and death are two sides of the same coin.

Lao Tzu

เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาคือ “นิพพาน” หมายถึง ความดับทุกข์อย่างถาวร พ้นจากวัฏสงสาร หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

ผมคิดว่าไม่มีคำตอบที่เหมาะกว่าประโยคด้านบนนี้

ในพระไตรปิฎกมี กล่าวถึงบุคคลในโลกนี้ แยกได้เป็น 4 ประเภท

  • บุคคลมืดมาแล้ว มีมืดไปภายหน้า
  • บุคคลมืดมาแล้ว มีสว่างไปภายหน้า
  • บุคคลสว่างมาแล้ว มีมืดไปภายหน้า
  • บุคคลสว่างมาแล้ว มีสว่างไปภายหน้า

แต่ถ้าเป็นคำตอบที่รองลงมา และใช้ได้สำหรับทุกคน (แม้แต่คนที่ไม่ได้นับถือพุทธ) ผมคิดว่าน่าจะเป็นคำตอบที่ว่า เราเกิดมาเพื่อ ไปสว่างกว่าที่เรามา

ผมเคยได้สนทนากับรุ่นพี่ท่านนึงที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการงาน การเงิน แต่ยังอุทิศชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และเป็นคนที่เสียสละมากๆ

ท่านพูดประโยคนึงที่ผมจำได้ขึ้นใจ

ตายน่ะไม่กลัวหรอก แต่กลัวตายแล้วสูญเปล่า

นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ท่าน ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ และสร้างประโยชน์ให้สังคมอยู่ตลอด

การเร่งทำความดีและทำสิ่งที่มีประโยชน์อาจจะเป็นหนทางที่คนเราควรปฏิบัติ เพื่อ “การไปสว่าง” ในภายหน้า

เรื่องที่ไม่สามารถรู้ได้ในขณะยังมีชีวิตอยู่ ๕ ประการ คือ เรื่องความ ยืนยาวของชีวิต เรื่องความเจ็บไข้ที่ทำให้สิ้นชีวิต เรื่องเวลาที่จะตาย เรื่องสถานที่ตาย และเรื่องคติที่ไปเกิดใหม่

กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ

วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่

พระพุทโธวาท

เวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นทำอะไรดีๆ และเลิกการทุจริตทุกประเภท ก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่า วันนี้ เดี๋ยวนี้

Focus

“การโฟกัส” ในยุคปัจจุบันมันแทบจะเป็น rare item

การ multitasking และทำชีวิตให้ยุ่งตลอดเวลา การกระโดดจาก app หนึ่งไปอีก app หนึ่ง ดูจะกลายเป็นพฤติกรรมร่วมแห่งยุคสมัย

นอกจาก หนังสือ “The One Thing” โดย Gary Keller

ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง ก็จะเห็นได้เลยว่า แต่ละเล่มก็จะพูดในประเด็นที่เหมือนกันอยู่ประมาณนี้

  • การตั้งเป้าหมาย
  • การจัดลำดับความสำคัญ
  • การวางแผน
  • การวัดผล
  • และ การโฟกัส

quotes ดังๆ เกี่ยวกับการ Focus

Where focus goes, energy flows.

Tony Robbins

The successful warrior is the average man, with laser-like focus.

Bruce Lee

หนึ่งในกระบวนการที่สำคัญมากของการโฟกัส คือ การ Say no

การ Say no เป็นการกำจัด distraction ไม่ว่าจะเป็นการจัดบ้าน การเลือกคบคน การตัดกิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์

อย่าง Apple เอง จะข้ามขีดจำกัดของการเป็น “บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์รายหนึ่ง” ขึ้นมาเป็นผู้นำ trend ด้านเทคโนโลยี ก็ต้องตัด line products นับพันออกเพื่อที่จะได้ Focus กับสิ่งที่เป็น core ของบริษัทจริงๆ

วิถี minimalism ก็นับเป็นการใช้ชีวิตแบบโฟกัสด้วยเหมือนกัน เพราะ เป็นวิถีที่มุ่งเน้นไปที่ใจความสำคัญ และ Say no กับ Distraction มากเท่าที่จะเป็นได้

แน่นอนว่าเราคงไม่เคยเห็นนักกีฬาโอลิมปิกคนไหนที่ได้เหรียญทองข้ามประเภท เช่น ได้เหรียญทองทั้งชกมวย และตีแบต ไปพร้อมกันๆ เพราะการที่สำเร็จเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มันต้องทุ่มพลังชีวิต Focus ไปที่ area เดียว

Bird for cat to watch

สิ่งที่ผมต้องการค้นหาในช่อง search ของ Youtube ก็คือ clip vdo นก ให้แมวดู

ผลการค้นหานั้นขึ้นมานับไม่ถ้วน และที่สำคัญแต่ละคลิปมีคนดู(หรือแมวดู) เป็นแสน เป็นล้านวิว

ขั้นตอนการทำ vdo ประเภทนี้ ดูแล้วก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร คือเอากล้องความละเอียดสูง (ยิ่งชัดยิ่งดี) มาตั้งไว้ที่มุมๆนึง ในสิ่งแวดล้อมที่ดูเป็นธรรมชาติ บางคนอาจจะตั้งไว้หลังบ้าน

จากนั้นก็โรยอาหารนก และพวกถั่ว chestnut หรือ Hazelnut ไว้ แล้วก็รอให้นักแสดงโผล่มากิน นักแสดงอาจจะเป็นนกนานาพันธุ์ และสัตว์ประเภทกระรอก กระแต

การสร้างความเพลิดเพลินให้เหล่าน้องแมวกลายมาเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และกลายมาเป็นคำค้นหายอดนิยม มี demand จนมีคนผลิตกันเป็นจริงเป็นจัง

ผมว่ามันเหมือนกับการที่ พ่อแม่ ในยุคนี้ที่ชอบโยน ipad หรือ smart phone ให้ลูกเล่นเพื่อเป็นการเล่นง่ายโดยไม่ต้องออกแรง และต้องการให้เด็กๆอยู่ในความสงบ

ตอนที่ดู ก็นึกถึงเรื่องของการทำ content และคำพูดที่ว่า “Nothing is original”

ผมรู้สึกว่า ถึงแม้คลิปวีดีโอประเภทนี้จะมีคนทำเยอะแล้ว แต่การถ่ายทำให้สถานที่ที่ต่าง ช่วงเวลาที่ต่าง และอุปกรณ์ที่ต่าง ก็ให้บริบท และความรู้สึกที่ต่างกันไป

Everything has already been done. every story has been told every scene has been shot. it’s our job to do it one better.

Stanley Kubrick

มันเป็นการตอกย้ำว่า เราไม่ควรจะล้มเลิกไอเดียที่จะทำ เพียงเพราะมีคนเคยทำแล้ว หรือเรื่องนี้มีคนเคยเล่าแล้ว

การเล่าเรื่องในแบบของเรา การใส่มุมมองใหม่ๆ เข้าไป มันกลายเป็น New Originals ของเราเอง

อย่างการถ่ายคลิปวีดีโอสิ่งมีชีวิตแบบนี้ สำหรับเราอาจจะดูธรรมดา แต่อาจจะมีคนอีกมุมนึงบนโลกที่รู้สึกว่าแปลกใหม่ หรือตื่นตาตื่นใจก็เป็นได้ แม้แต่สถานที่เดิม เวลาเดิม แต่คนละวันก็ให้บรรยากาศที่ไม่เหมือนกัน

ประโยชน์อีกอันที่เหมือนเป็นผลพลอยได้จากการเปิดคลิปวีดีโอนกให้แมวดู คือ มันเหมือนเปิดเสียง ASMR ไปในตัว ฟังแล้วรู้สึกสงบ แมวไม่กวน ทำให้อ่านหนังสือเพลินมากขึ้นด้วย

ข้อควรระวัง : แมวบางตัวอาจรู้สึกหงุดหงิดหรือเครียดมากเกินไปเมื่อดูวิดีโอนก สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตพฤติกรรมของแมว และจำกัดเวลาการดูหน้าจอด้วย 🙂

ต้นส้มแสนรัก (My Sweet Orange Tree) รีวิว

“ต้นส้มแสนรัก” เป็นวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิก ผลงานของ โจเซ่ เมอโร เดอ วาสคอนเซลอส

ผมเคยได้ยินมานานมาก และเคยโดนสปอยเนื้อเรื่องมาประมาณนึง แต่ก็ไม่เคยสนใจจนมาช่วงหลังๆนี่กลับมาอ่านหนังสือเยอะเลยมีความคิดว่าจะตามเก็บหลายๆเรื่องที่คนชอบแนะนำกัน

ผมใช้เวลาอ่านค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับขนาดความหนาของเล่ม ด้วยความที่หนังสือเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ “เซเซ่” เด็กวัย 5 ขวบ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ

การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ เซเซ่ จึงเป็นอะไรที่ตรงไปตรงมา รู้สึกแบบไหน ก็บรรยายออกมาแบบนั้น

เขาสร้างมิตรภาพกับ “มิงกินโย” ต้นส้มในสวนหลังบ้าน จินตนาการของเขา และการสร้างโลกส่วนตัวที่มีตัวละครต่างๆ ช่วยเยียวยาความเจ็บปวดจากโลกภายนอก

มิตรภาพระหว่าง เซเซ่ กับ มิงกินโย แม้จะไม่ใช่สิ่งมีชีวิต แต่กลับเป็นมิตรแท้ที่รับฟัง ปลอบโยน และเข้าใจ

ชีวิตของเซเซ่ เต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งเผชิญความรุนแรง ความยากจน และความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต

ด้วยความที่ชีวิตของ José Mauro de Vasconcelos ผู้เขียน ในวัยเด็กนั้น เกิดมาในครอบครัวยากจน พ่อของเขาเป็นช่างทำกุญแจ และแม่ของเขาเป็นแม่บ้าน

การเขียนเรื่อง ต้นส้มแสนรัก จึงบรรยายได้สมจริง เพราะอิงจากประสบการณ์วัยเด็กของ โจเซ่ เอง

Quotes ในหนังสือที่ผมชอบ

ความเจ็บปวดมันไม่ใช่การถูกตีจนสลบไสลหรอก ไม่ใช่การถูกเศษแก้วบาดเท้าและถูกเย็บแผลที่ร้านหมอ ความเจ็บปวดคืออะไรอย่างหนึ่งที่ทำให้หัวใจของคุณแตกสลายและต้องตายจากไปโดยไม่อาจที่จะเล่าความลับของคุณให้ใครฟังได้เลย”

“บางทีความสุขก็คือ การที่เรารู้สึกพอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่ โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร”

“ชีวิตมันสั้นนัก อย่าเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ จงใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและทำสิ่งที่เรารัก”

“ความฝันเป็นสิ่งสำคัญ มันทำให้เรามีความหวังและแรงบันดาลใจ”

ตอนที่อ่านไปช่วงแรก 1/5 ก็แอบรู้สึกน่าเบื่อนิดนึง แต่พอได้ลองทำความเข้าใจแล้วลองใช้มุมมองแบบเด็ก ก็จะเริ่มเพลินขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับ character เซเซ่ คือ เป็นเด็กชายที่ฉลาด ใสซื่อ และมองโลกในแง่ดี แม้จะต้องมีชีวิตที่ลำบาก เจอกับปัญหาต่างๆ แต่เขาก็ไม่เคยสูญเสียความหวัง และยังหาแง่มุมดีๆ ในเรื่องที่มันแย่ๆได้

ต้นส้มแสนรัก ในเมืองไทยนั้นมีการแปลอยู่ 2 เวอร์ชั่น

  • สำนวนแปลโดย มัทนี เกษกมล ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2522
  • สำนวนแปลโดย สมบัติ เครือทอง ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2545

เล่มที่ผมอ่านแปลโดยคุณ มัทนี ส่วนเวอร์ชั่นของ คุณ สมบัติ ผมยังไม่ได้อ่าน แต่ทั้งสองเวอร์ชั่นก็ได้รับรางวัลทั้งคู่ ผมได้อ่านความเห็นของคนที่อ่านทั้งสองแบบ บอกว่าของ คุณ มัทนี จะแปลได้ตรงใจความ และรักษาอารมณ์ของต้นฉบับ ส่วนของ คุณ สมบัติ จะใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะกับผู้อ่านรุ่นใหม่

ตัว โจเซ่ เมอโร เดอ วาสคอนเซลอส ผู้เขียน จริงๆแล้วก็มีผลงานการเขียนหลายเล่ม และก็ได้รางวัลเยอะด้วย แต่เล่มที่ดังสุดก็คือ ต้นส้มแสนรัก สิ่งที่น่าทึ่งคือเค้าไม่เคยเข้าเรียนที่โรงเรียน และหัดเขียนอ่านด้วยตัวเอง

ก่อนอ่านผมก็รู้มาว่าตอนจบมันเศร้า แต่พออ่านจริงๆมันก็ไม่ได้เศร้าขนาดนั้น การก้าวผ่านความสูญเสียเป็นเรื่องปกติของชีวิต จะว่าไปมันออกแนว feel good ด้วยซ้ำ

ประทับใจที่ได้อ่านครับ 🙂